วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เข้ามหาวิทยาลัย “เพราะเห็นคุณค่า” หรือ “เพื่อใบปริญญา”


เข้ามหาวิทยาลัย “เพราะเห็นคุณค่า” หรือ “เพื่อใบปริญญา”

นับตั้งแต่ปีการศึกษา 2547-2550 สถาบันอุดมศึกษาไทยมีนักศึกษาเพิ่มขึ้น โดยระดับปริญญาตรี ระหว่างปีการศึกษา 2547-2549 มีจำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้น 497,542 คน 506,054 คน และ 549,235 คน ตามลำดับ และลดลงในปีการศึกษา 2550 ที่มีจำนวน 506,650 คน เช่นเดียวกับระดับปริญญาโท ที่นักศึกษาเพิ่มขึ้นช่วงปีการศึกษา 2547-2549 จำนวน 497,542 คน 51,733 คน และ 59,001 คนตามลำดับ แต่ลดลงในปีการศึกษา 2550 ที่มีจำนวน 52,992 คน ขณะที่นักศึกษาระดับปริญญาเอกเพิ่มขึ้นทุกปี โดยช่วงปีการศึกษา 2547-2550 มีจำนวนนักศึกษา 2,114 คน 3,098 คน 3,433 คน และ 3,888 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการด้านการศึกษาและผู้ใหญ่ในสังคมหลายท่านแสดงความเป็นห่วงว่า จะมีนักศึกษาจำนวนมากเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาเพื่อต้องการปริญญา แต่ไม่ได้สนใจในสาขาวิชาที่เรียนอย่างแท้จริง และผลกระทบระยะยาวคือ แรงงานระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษาล้นตลาด ซึ่งในประเด็นแรงจูงใจในการเรียนระดับอุดมศึกษา มีการกล่าวถึงในต่างประเทศเช่นกัน

ศ.ไมค์ ธอร์น (Mike Thorne) รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแองเกลีย รัสกิน (Anglia Ruskin University) กล่าวว่า ปัจจุบันแรงจูงใจในการเรียนของนักศึกษามหาวิทยาลัย ไม่ได้อยู่ที่การรักในสิ่งที่เรียน แต่เกิดจากการเห็นว่าใบปริญญาเป็นเหมือนหนังสือเดินทาง ที่นำไปสู่โลกของการทำงาน มีนักศึกษาส่วนน้อยเท่านั้นที่มีค่านิยม “เรียนเพราะเห็นคุณค่าในสิ่งที่เรียน” ซึ่งค่านิยมดังกล่าวนี้ เริ่มขึ้นเมื่อรัฐบาลทำให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยนโยบายการศึกษาของประเทศหลายข้อถูกผลักดันด้วยประเด็นทางเศรษฐกิจเป็นหลัก

ก่อนหน้านี้ ความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจและการศึกษามีไม่มากนัก ลูกตุ้มที่แกว่งไปมาระหว่าง 2 ด้าน มักจะแกว่งไปที่การศึกษามากกว่าเศรษฐกิจ นักศึกษาจะเห็นคุณค่าและรักในสิ่งที่เรียน แม้ว่าปริญญาบัตรที่ได้รับจะไม่นำไปสู่โลกของการทำงานในภาคธุรกิจ แต่อย่างน้อยก็ได้นำพวกเขาไปสู่โลกของนักวิชาการ ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับประเทศ

ศ.เลวิส อีตัน (Lewis Elton) ศาสตราจารย์ (เกียรติคุณ) มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College Lodon) ได้แสดงความคิดเห็นในมุมตรงข้าม กล่าวว่า ความคิดของ ศ.ธอร์นไม่ใช่สิ่งผิด แต่หากมองอีกด้าน มหาวิทยาลัยมีบทบาทและภารกิจเพียงการเตรียมความพร้อมนักศึกษาสำหรับการใช้ชีวิตจริงในโลกของการทำงาน แต่ไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแรงจูงใจในการเรียนของนักศึกษาได้ อีกทั้ง บรรดานายจ้างไม่ได้กำหนดชัดว่าพวกเขาต้องการพนักงานที่มีแรงจูงใจที่ถูกต้องทั้งในการเรียน แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ ความสามารถในการทำงาน

ผมมีความคิดเห็นว่า แรงจูงใจในการเรียนที่เกิดจากการรักสิ่งที่เรียนมีความสำคัญ และไม่ได้ผิดอะไร หากนักศึกษาศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในบางสาขา โดยมีความตั้งใจแน่วแน่ว่าต้องได้ปริญญาเพื่อเบิกทางเข้าทำงานในสาขาที่สนใจ แต่สภาพจริงกลับพบว่า มีนักศึกษาจำนวนมากไม่ได้ตั้งเป้าหมายตั้งแต่แรกว่า จะเรียนสาขาใดหรือจบออกไปจะประกอบอาชีพใด แต่เรียนอะไรก็ได้เพื่อให้ได้ใบปริญญา ความตั้งใจเรียนจึงมีไม่มากนัก

ลักษณะของนักศึกษาที่เรียนเพื่อให้ได้ใบปริญญา เช่น เรียนสาขาอะไรก็ได้ที่สอบติด หรือเรียนไม่ยาก จบง่าย และไม่สนใจว่าจะนำความรู้ที่ได้เรียนนั้นไปใช้ประโยชน์หรือไม่ พฤติกรรมการเรียนมีลักษณะ เข้าเรียนบ้างไม่เข้าเรียนบ้าง อาศัยการถ่ายเอกสารจากสมุดบันทึกคำบรรยายของเพื่อนหรือเอกสารที่แจกในห้องเรียนเอาไว้อ่านช่วงใกล้สอบ นักศึกษาบางคนเรียนไปเรื่อย ๆ เกิดความเบื่อหน่ายในสิ่งที่เรียน ใช้วิธีเปลี่ยนสาขาวิชาหรือเปลี่ยนคณะ พฤติกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดความสูญเปล่าของงบประมาณ เพราะค่าเล่าเรียนของนักศึกษากว่าครึ่งเป็นเงินภาษีประชาชน แต่ประเทศกลับไม่ได้รับผลตอบแทนเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานและสังคม หรือได้นักวิชาการที่มาสร้างองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ
ในทางตรงข้าม นักศึกษาที่มีแรงจูงใจเพื่อต้องการวิชาความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการทำงานภาคธุรกิจหรือเป็นนักวิชาการ จะมีพฤติกรรมที่แตกต่างคือ นักศึกษาจะมีเป้าหมายว่าต้องการเรียนในสาขาวิชาหรือคณะใด โดยตั้งใจแน่วแน่ว่าจะเชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้น ๆ เพื่อไปเป็นนักวิชาการหรือทำงานในบริษัทที่รับคนจบในสาขาวิชาดังกล่าว พฤติกรรมในการเรียนจะเรียนอย่างตั้งใจมากกว่านักศึกษาที่มีแรงจูงใจอยู่
ที่ใบปริญญาบัตร

การศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่มีแรงจูงเพื่อแสวงหาความรู้อย่างแท้จริง จะส่งผลให้นักศึกษาได้รับประโยชน์จากการเรียนมากกว่านักศึกษาที่เรียนไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีเป้าหมาย รอรับใบปริญญาอย่างเดียว เนื่องด้วยนักศึกษาที่มีแรงจูงใจเรียน เพื่อรู้ลึก รู้จริง และต้องการนำไปใช้ประโยชน์ ย่อมมีแนวโน้มตั้งใจเรียน มีความสุขกับการเรียน สามารถต่อยอดองค์ความรู้ในสาขานั้น ๆ ได้มาก และจะกลายเป็นกำลังคนที่มีคุณภาพป้อนสู่ตลาดแรงงาน และมีส่วนในการพัฒนาประเทศ

Credit สยามรัฐรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น: